วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2555

การสถาปนากรุงศรีอยุธยา

     ในการศึกษาประวัติศาสตร์ทำให้เราทราบว่าบรรพบุรุษของไทยเป็นผู้สถาปนา อาณาจักรสุโขทัยขึ้นในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน  และในช่วงเวลาที่อาณาจักรสุโขทัยเริ่มเสื่อมอำนาจลง  อาณาจักรอยุธยาก็สถาปนาขึ้น  และดำรงอยู่เป็นราชธานีตลอดระยะเวลา 417 ปี  จนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาเสียอิสรภาพให้แก่พม่า  ในปี พ.ศ. 2310 แล้ว  สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้กอบกู้เอกราชของไทยคืนมา  และสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานีแห่งใหม่  อาณาจักรธนบุรีดำรงอยู่มาได้ 15 ปี  ก็สิ้นสุดแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  ต่อมาในปี พ.ศ. 2325  สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ทรงสถาปนาพระราชวงศ์จักรีขึ้นปกครองแผ่นดินและตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็น ราชธานีแห่งใหม่ของไทยสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้
     อาณาจักรอยุธยาสถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1893  และดำรงความเป็นอาณาจักรไว้ได้นานถึง 417 ปี  ย่อมต้องมีรากฐานทางสังคมและวัฒนธรรมที่เข้มแข็งพอสมควร  ดังนั้นการศึกษาประวัติศาสตร์ในสมัยอยุธยาจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการศึกษา ประวัติศาสตร์ของไทยเป็นอย่างยิ่ง

 ผู้ก่อตั้งอาณาจักรอยุธยา               
               ก่อนที่พระเจ้าอู่ทองจะเสด็จมาสร้างกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พศ. 1893  ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าพระองค์มีเชื้อสายมาจากราชวงศ์ใด  และมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่เมืองใด  แต่มีข้อสันนิษฐานว่า  พระเจ้าอู่ทองสืบเชื้อสายมาจากทางเหนือ  ตอนบนของแม่น้ำเจ้าพระยา  ก่อนที่จะอพยพมาสร้างกรุงศรีอยุธยา
               ส่วนความคิดเห็นหนึ่งก็ว่า  พระเจ้าอู่ทองอยู่ที่เมืองอโยธยา  และทรงอพยพไพร่พลหนีโรคระบาดข้ามฝั่งแม่น้ำมาสร้างกรุงศรีอยุธยา
               นอกจากนี้ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างออกไปว่า  พระเจ้าอู่ทองซึ่งเป็นฝ่ายละโว้ได้อภิเษกสมรสกับพระราชธิดาของกษัตริย์แห่ง สุพรรณภูมิ  เพื่อจุดมุ่งหมายทางการเมืองที่จะสร้างความมั่นคงให้กับอาณาจักร
               ต่อมาเมื่อเมืองอู่ทองเกิดโรคระบาด  เกิดภัยธรรมชาติ  ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก  พระเจ้าอู่ทองจึงอพยพผู้คนไปยังทำเลที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์  (เชื่อกันว่าเป็นบริเวณที่เป็นวัดพุทไธสวรรย์ในปัจจุบัน)  ทรงสร้างเมืองใหม่ที่บริเวณหนองโสนหรือบึงพระราม  แล้วสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีในปี พ.ศ. 1893  ทรงพระราชทานนามพระนครว่า  "กรุงเทพทวารวดี ศรีอยุธยา"  พระเจ้าอู่ทองเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์ต้นราชวงศ์อู่ทอง  ทรงพระนามว่า  "สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1"

วันเสาร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2555

ความซื่อสัตย์

ความซื่อสัตย์ต้องเริ่มตั้งแต่เรื่องเล็กน้อย   :   ความซื่อสัตย์ต้องเริ่มตั้งแต่เรื่องเล็กๆ หากเราไม่ซื่อสัตย์ในเรื่องเล็กน้อย เรื่องใหญ่เราก็จะไม่ซื่อสัตย์ด้วย ไม่ว่าจะกระทำการใดเราควรได้กระทำด้วยความรับผิดชอบตามกฎระเบียบ หากทำผิดก็ต้องรับผิด อย่าพลิกแพลงหรือแก้ตัว การแก้ตัวนั้นถือได้ว่า เป็นการไม่ซื่อสัตย์ต่อตนเอง   ถึงแม้อาจจะฟังดีมีเหตุผล แต่ไม่มีประโยชน์ในการดำเนินชีวิตและกลับยิ่งเป็นการลดคุณค่าตัวเองมากยิ่งขึ้น หากเราทำดีมาร้อยครั้งแต่เมื่อเราทำผิดและแก้ตัว บุคคลอื่นก็จะเริ่มสงสัยไม่ไว้วางใจเรา เริ่มไม่อยากมอบหมายความรับผิดชอบให้กับเรา ดังนั้น เราจึงควรยอมรับความจริงได้แม้เราผิดพลาดไป และดำเนินชีวิตด้วยความมั่นใจว่าความซื่อสัตย์ที่เราพากเพียรทำไว้นั้นจะสามารถปกป้องเราไว้ได้อย่างแน่นอน